01:00
0
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2500 ไลก้า สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลก (03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500)
รายละเอียด
ไลก้า (Leika แปลว่า เห่า) สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลกด้วยยานสปุตนิค 2 ของสหภาพโซเวียต ตามโครงการสปุตนิค เชื่อหรือไม่ว่าไลก้า สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกีเพศเมีย ที่ถูกจับมาจากข้างถนนในกรุงมอสโก นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ยานสปุตนิก 2 ไม่ได้ออกแบบให้กลับสู่โลกอย่างสมบูรณ์ เรื่องของไลก้าจึงจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่เราไม่รู้แน่ชัดนัก ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า ไลก้ามีชีวิตอยู่ได้ ระหว่าง 4-10 วันในวงโคจร บางคนก็บอกว่า อาหารมื้อท้าย ๆ ของเธอมีภาวะเป็นพิษ บางส่วนก็อ้างว่าไลก้าขาดออกซิเจนเมื่อแบตเตอรี่ ของระบบเกื้อชีวิตหมด ยานสปุตนิก 2 อยู่ในวงโคจรนาน 163 วัน โคจรรอบโลกครบรอบในเวลา 1 ชั่วโมง 42 นาที รวม 2,370 รอบ ในท้ายสุด โลงศพของไลก้าก็ตกลงสู่โลกและไหม้สลายหมดไปในอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2501 อีก 40 ปีให้หลัง อนุสาวรีย์ของสุสานอวกาศก็ได้มีการสร้างขึ้นนอกกรุงมอสโก โดยมีรูปของไลก้าเห่าขณะสวมชุดนักบินอวกาศ

เบื้องหลัง
รู้รอบโลก ความรู้รอบตัว เรื่องน่าอ่าน เบื้องหลังน่าเศร้า ไลก้า สุนัขอวกาศ สุนัขตัวแรกที่โซเวียตส่งไปโคจรบนอวกาศ ทั้งนี้ ไลก้า สุนัขอวกาศ ได้เสียชีวิตหลังจากขึ้นไปบนอวกาศเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะความร้อน ทำให้ องค์กรพิทักษ์สัตว์ ของตะวันตกออกมาประณาม โซเวียต
หลังจากที่รัสเซียส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นโคจรในอวกาศเป็นครั้งแรกของโลก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 จนโลกแซ่ซ้อง นายนิกิต้า ครุชชอฟ ประธานาธิบดีในขณะนั้น จึงสั่งให้นายเซอร์เก โครอลยอฟ บิดาโครงการอวกาศโซเวียต นำดาวเทียมขึ้นไปโคจรบนอวกาศอีก เพื่อเฉลิมฉลองวันที่ 7 พฤศจิกายน วันครบรอบการปฏิวัติของบอลเชวิค คำสั่งนี้จึงเป็นที่มาของ "การเดินทางอวกาศของไลก้า" 

นายบอริส เชอร์ทอค มือขวาของโครอลยอฟ กล่าวว่า โครอลยอฟมีเวลาไม่ถึง 1 เดือนในการออกแบบดาวเทียมใหม่ พวกเขาหวั่นว่า การส่งดาวเทียมขึ้นไปอีกครั้ง อาจเกิดอุบัติเหตุจนเป็นการกลบชัยชนะครั้งแรก แต่ไม่อาจโต้แย้งครุชชอฟได้ ต่อมามีผู้เสนอความคิดให้นำสุนัขขึ้นไปด้วย ซึ่งโครอลยอฟก็ปิ๊งกับความคิดนี้ทันที แม้จะไม่ทราบถึงผลกระทบของอวกาศต่อสิ่งมีชีวิต 
โซเวียตเคยทำการทดลองนำสุนัขขึ้นไปกับขีปนาวุธ สุนัขบางตัวรอดชีวิต โดยสุนัขที่นำมาทดลองเป็นพันทาง เพราะเชื่อว่ามีความอดทนต่อสิ่งแวดล้อมสูง เพียง 9 วันก่อน "สปุตนิก 2" ออกเดินทาง ดร.วลาดิเมียร์ ยาซดอฟสกี้ เลือก "ไลก้า" สุนัขอายุ 2 ขวบไปกับสปุตนิก ไม่มีใครทราบเหตุผลในการตัดสินใจ บางทีอาจเป็นเพราะว่า "ไลก้า" เป็นสุนัขที่รูปร่างลักษณะดี 
ในบันทึกของยาซดอฟสกี้ระบุว่า รู้สึกสงสาร "ไลก้า" เพราะรู้ว่ามันต้องเสียชีวิตแน่นอน เวลาของมันที่จะอยู่ในโลกเหลืออยู่น้อยเต็มที เขาจึงนำมันกลับบ้านไปเล่นกับลูกๆ ของเขาเป็นครั้งสุดท้าย วันต่อมา เขาพา "ไลก้า" ไปส่งที่ฐานทดลอง มันเดินเข้าไปประจำในแคปซูลอย่างเงียบๆ และสง่าผ่าเผย 
ก่อนเดินทางเกิดอุปสรรคทางเทคนิค ไลก้าต้องนั่งอยู่ในแคปซูลนานถึง 3 วัน ในขณะนั้นอากาศหนาวมาก จนต้องติดตั้งสายยางจากภายนอกให้เข้าไปในแคปซูลเพื่อให้อากาศอบอุ่น กระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายนจึงสามารถส่งสปุตนิก 2 ขึ้นไปบนอวกาศได้ เมื่อไลก้าไปถึงอวกาศ แพทย์ต่างเบาใจเมื่อพบว่า หัวใจของ "ไลก้า" ยังเต้นอยู่ ความดันปกติ มันกินอาหารที่เตรียมไว้ให้ในแคปซูล ในรายงานของโซเวียตบันทึกว่า เมื่อประมาณ 1 อาทิตย์ผ่านไป "ไลก้า" จึงเสียชีวิต ทำให้องค์กรพิทักษ์สัตว์ของตะวันตกออกมาประณามโซเวียต 
เมื่อโซเวียตล่มสลายแล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งร่วมในโครงการจึงออกมาเปิดเผยความจริงของการส่ง "ไลก้า" ไปกับ "สปุตนิก 2" ว่า "ไลก้า" เสียชีวิตหลังจากขึ้นไปบนอวกาศเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพราะความร้อน หลังจาก "ไลก้า" โซเวียตยังส่งสุนัขขึ้นไปอีกอย่าง "เบลก้า" และ "สเตรลก้า" แต่พวกมันตายก่อนที่จะลงมายังพื้นโลก 
จนวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 โซเวียตส่ง "ยูริ กาการิน" มนุษย์คนแรกของโลกที่ ขึ้นไปบนอวกาศ กาการินกล่าวอย่างติดตลกไว้ว่า "ผมไม่เข้าใจว่าผมเป็นใครกันแน่ ระหว่างมนุษย์คนแรกในอวกาศหรือสุนัขตัวสุดท้ายในอวกาศ"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น